LTLH ทางออกของกาแฟไทย (1) สิ่งที่เป็นไปไม่ได้นั้นเป็นไปได้
สิ่งที่เป็นไปไม่ได้นั้นเป็นไปได้
ช่วงนี้ผมอาจจะดูวุ่นวายเรื่องงานวิชาการอะไรมากหน่อยก็อย่าเพิ่งรำคาญใจกันนะครับ ที่โพสต์ลงไปนี่มันจำเป็นทั้งนั้น
เหมือนอย่างที่เล่ามาสักระยะหนึ่งแล้วว่าปัญหาที่ผมกำลังตามติดอยู่ก็คือการพัฒนากระบวนการตากใหม่เพื่อเป็นทางออกให้กับเกษตรกรในยามที่ต้องเผชิญกับภาวะยากลำบากคือ "การตากกาแฟในช่วงที่มีฝนตกหรือความชื้นสูง"
หลังจากพยายามคิดหาทางออกกันหลายตลบ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องอบความร้อน หรือโดมโซล่าร์ ...เราก็ยังคงติดปัญหาอื่นต่อเนื่องจากนั้นไปอีก เช่นขนาดของเครื่องอบที่จำกัดปริมาณการผลิต (ทำให้ต้องลงทุนค่อนข้างสูงและไม่คุ้มค่า)
โดยเฉพาะเรื่องใหญ่ (ที่หลายคนยังไม่ทราบว่าเป็นปัญหา) ก็คือ
กาแฟนั้นจะตากจนผิวร้อนเกินไปไม่ได้...ถ้าเกิน 40 องศาเซลเซียส เซลล์กาแฟจะเสียสภาพ และเสียรสชาติ (ออกไปในทำนองน้ำต้มผักจำพวกสตูว์) หรือหากเกิดกับกาแฟจำพวก immature bean ก็สามารถถึงขั้นเกิดกลิ่นทำนองสารเคมีที่เราเรียกว่า Phenolic ซึ่งถือเป็น defect ที่แย่เอามากๆเลยทีเดียว
ตอนนี้เราเชื่อมั่นว่าพบทางออกที่น่าจะลงตัวแล้วครับ ซึ่งก็น่าแปลกเพราะมันเป็นทางเลือกที่แทบไม่เคยมีใครนึกถึง เพราะจะว่าไป...ใครๆก็ต้องคิดว่าทางเลือกนี้มันช่าง "บ้าสิ้นดี" และไม่น่าจะเป็นไปได้ หรือ ไม่เวิร์คเพราะทำไปก็ไม่คุ้มค่าไฟหรอก
ครับ...จะเป็นยังไงถ้าหากเราจะชวนเพื่อนๆให้มา "ตากกาแฟในห้องแอร์กัน!?"
เรามาสร้างห้องความชื้นต่ำเพื่อให้สามารถตากกาแฟเปียกๆได้กัน...ถึงแม้ว่าข้างนอกเขาจะชื้นฝนยังไงก็ตากได้หากเรามีห้องนี้
ปัจจัยที่สนับสนุนให้เกิดการ "ตากแห้ง" หรือ Drying ก็คือ ความชื้นต่ำ อุณหภูมิต่ำ และกระแสลมเย็นสบาย
พูดถึงตรงนี้หากใครเคยตากผ้าในห้องแอร์คอนโดก็อาจจะเผลอร้อง "อ๋อ" ขึ้นมาบ้างแล้ว
ซึ่งทั้งหมดนี้สร้างได้ในห้องสักห้องภายในบ้านของเรา อาจจะบ้านของผมหรือของพี่น้องเกษตรกรคนไหนก็ได้
และไม่เกินกำลังลงทุนของ Sme ตัวเล็กๆแน่นอน
ที่สำคัญ อยากบอกว่า เราอาจจะได้กาแฟที่มีคุณภาพสูงกว่า และปลอดภัยจากเชื้อรามากขึ้นอีกด้วย
ทั้งหมดนี้ทำได้ เพียงแค่เราพัฒนา Know how ให้ใช้งานง่ายขึ้นและแม่นยำมากขึ้นอีกสักหน่อย ซึ่งตอนนี้ทีมปรีดากำลังเตรียมการจนกำลังเข้าสู่ช่วงทดสอบระบบแล้ว
ไว้มาเล่าต่ออีกทีนะครับ
#LTLH #PredaRoastingHouse #CoffeeDrying #CoffeeProcessing#LowTempLowHumidity
#เพื่อกาแฟไทยเข้มแข็ง