โก๋ครบโหล (11) ปีที่สิบเอ็ด ปลูกต้นไม้ให้หนองน้ำ
“ปลูกต้นไม้ให้งอกงาม” คือทางเดียวที่จะรักษาหนองน้ำเอาไว้ได้นานที่สุด!
ปีนีโรงคั่วกาแฟมีตำแหน่งงานใหม่คือ ‘ผู้ช่วย Roast Master’ มาแบ่งเบางานคั่วกาแฟ ‘เดี่ยว’ ทำงานกับเราได้ 3 ปีกว่าแล้ว ด้วยทักษะงานช่างที่ถนัดและความอดทนในงานหนักทำให้เรามีเวลาฝึกคั่วกาแฟให้เขาต่อเนื่อง แต่กว่าจะฝึกจนขึ้นมาเป็นมือคั่ว..ก็ผ่านมากว่าสามปี! ...พอดีกับร่างกายของผมเองที่เรี่ยวแรงเริ่มลดน้อยลงตามวัย
ปุ๊กกับผมเริ่มมีเวลาให้กับตัวเอง.. หลังปิดร้านตอนหกโมงเย็น เราพอได้ไปออกกำลังกายบ้าง หรือบางวันในช่วงเช้าๆ ก็ไปปั่นจักรยานรอบเมือง ได้สังเกตความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองอย่างพินิจพิเคราะห์มากขึ้น ...เวลากลับมาเดินช้าอีกครั้ง แต่คราวนี้มันช้าลงอย่างเย็นๆ ไม่ใช่อย่างร้อนๆ แบบที่เคยเป็นเมื่อตอนร้านยังขาดทุนและเราก็ยังไม่ตกผลึก
ข้อดีของการกลับมาปักหลักอยู่บ้าน คือการได้ทำหน้าที่ให้แก่บุพการี หากยังพลัดบ้านพลัดถิ่น ทำงานไปตามสายอาชีพอยู่ในเมืองใหญ่ ป่านนี้ผมคงยังกลับไม่ได้ และคงไม่ได้ร่วมกับพี่ๆ ในการดูแล “ยายหอม” น้าสาวที่เคยช่วยแม่เลี้ยงพวกเราตอนยังเป็นเด็กเล็กๆ ...ช่วงเวลาสุดท้าย ยายป่วยด้วยอาการไตวาย พวกเราหลานๆ ก็ได้ช่วยกันดูแลจนถึงวันสุดท้ายของท่าน สำหรับผมแล้วการได้ทำหน้าที่เหล่านี้ถือเป็นโชคและเป็นบุญอย่างยิ่ง ส่วนปุ๊กเองก็มีเวลากลับไปดูแลอาม่าที่กรุงเทพฯในช่วงสุดท้ายของท่านเช่นกัน...แม้จะต้องเดินทางไปกรุงเทพฯบ่อยมากแต่งานที่ร้านและโรงคั่วก็ยังเดินหน้าต่อไปได้เพราะผมยังพอจะสลับมาทำหน้าที่แทนแบบตัวสำรอง เราผ่านมันไปด้วยกันตั้งแต่เรื่องงานจนถึงเรื่องครอบครัว
สำหรับเรา ร้านโก๋คล้ายเป็นหนองน้ำแห่งหนึ่ง มันคือพื้นที่ๆอยู่ ณ จุดต่ำมากพอที่จะรวบรวมเอาน้ำและความชื้นไว้ จนมีชุมชนเล็กๆเกิดขึ้น
แต่หนองน้ำก็มีวันจะเหือดแห้ง หากไม่มีต้นไม้ใหญ่น้อยช่วยโอบอุ้มความชุ่มชื้นเอาไว้ เมื่อความชุ่มชื้นยังคงอยู่ หนองน้ำก็จะยังคงอยู่ ทั้งหนองน้ำและต้นไม้ต่างก็เป็นเหตุและปัจจัยเกื้อหนุนกันและกัน
ทางที่จะรักษาหนองน้ำเล็กๆนี้เอาไว้ คือทำให้พรรณไม้เหล่านั้นเจริญเติบโตขึ้นตามกำลัง สำหรับโก๋..คนทำงานก็คือต้นไม้ในหนองน้ำ!
การพัฒนาคน เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการดำรงอยู่ของเรา
ปัญหาของร้านกาแฟท้องถิ่นก็ไม่ต่างจากธุรกิจท้องถิ่นอื่นๆคือเรื่องขาดแคลน “คน” ที่มีฝีมือหรือความรู้ดีมาช่วยสร้างงาน ...ที่เก่งๆก็ไปเรียนเมืองใหญ่ ทำงานในเมืองใหญ่กันซะเกือบหมด แต่ครั้นจะรอให้มีคนเก่งเดินเข้ามาสมัครก็คงจะไม่ไหว ดังนั้นด้วยข้อจำกัดเหล่านี้...เราจึงต้องสร้างระบบงานและระบบฝึกคนของเรากันขึ้นมาเอง ด้วยคนที่เราพอหากันได้จากท้องถิ่นนี่แหละ
ที่จริงเด็กที่ผ่านทดลองงานเข้ามาก็ถือว่าเขามีความอดทนและนิสัยใจคอที่เข้ากันกับเราได้แล้ว ส่วนที่ต้องฝึกหลังจากนั้นก็คือ ทักษะ ความรู้ และความคิด โดย ทักษะเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุด ส่วนความรู้และความคิดนั้นเป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับระยะยาว ผมเริ่มต้นปรับระบบการ Training ด้วยการปรับโครงสร้างองค์กรให้มีผู้รับผิดชอบงานสำคัญ 2 ส่วนเสียก่อนเพื่อให้เกิดทีมฝึกสอนและควบคุมงานขึ้นมา ตำแหน่ง Supervisor และตำแหน่ง Trainer จึงเริ่มเกิดขึ้นในปีนี้
Supervisor คือหัวหน้าทีมสต๊าฟ ซึ่ง ต้องเป็นคนที่ได้ยอมรับจากเพื่อนร่วมงานทุกคน ทั้งความอาวุโส ความน่าเชื่อถือ และความเป็นแบบอย่างในการทำงาน ส่วน Trainer คือผู้ฝึกสอนงานทักษะทั้งหมดให้สต๊าฟ โดยผมจะคัดเลือกขึ้นมาจากสต๊าฟที่มีอาวุโสและสามารถ “สอน” รุ่นน้องได้
นอกเหนือจากงานทักษะ เราเริ่มปรับระบบการคิดของคนด้วย..
1. ใช้ Mind map เป็นภาษาประจำร้าน..เมื่อต้องวางแผน หรืออธิบายสิ่งใดๆที่เกี่ยวกับงาน Staff จะต้องเขียน mind map หรือแผนผังความคิดลงบนกระดาษ A4 เสมอ
2.ให้การบ้าน บางครั้งก็บังคับให้อ่านหนังสือเกี่ยวกับ positive thinking บ้าง หนังสือความรู้เกี่ยวกับกาแฟบ้าง เมื่ออ่านจบแล้วก็ให้กลับมาเล่าให้ฟัง พร้อมกับ mind map สรุปเรื่อง
การคิดแบบแผนผังรากไม้อย่าง mind map ช่วยฝึกเราให้คิดอย่างเป็นหมวดหมู่ และเห็นความเชื่อมโยงของเรื่องราว สิ่งของอย่างเป็นระบบและเป็นลำดับขั้นตอน ทำให้ผู้ถูกฝึกเห็นทั้งภาพรวม รายละเอียด และความสัมพันธ์ ซึ่งทั้งหมดนี้คือแทบทั้งหมดของ “การบริหารจัดการ” หากสต๊าฟโก๋มีทักษะด้านนี้ดีพอ ผมก็จะเบาแรงไปได้อีกเยอะ
ผลจากการฝึกไปได้ระยะหนึ่ง...ผมสามารถปล่อยให้น้องๆบริหารงานประจำวันทั่วไปกันได้เองโดยเข้าไปร่วมจัดการด้วยน้อยมาก ซุปต่ายกำหนดความรับผิดชอบประจำเดือนให้กับสต๊าฟแต่ละคนตามเนื้องานโดยหมุนเวียนหน้าที่ในแต่ละเดือนกันไป จากนั้นทุกคนก็จะกลับไปวางแผนงานของตัวเองตามความเหมาะสมแล้วส่งกลับเป็นปฏิทินงาน เมื่องานไหนถูกทำเรียบร้อย ซุปต่า่ยก็จะตรวจสอบความเรียบร้อยพร้อมทั้งเซ็นต์กำกับการตรวจสอบในปฏิทินงานส่วนนั้น ...ช่วงแรกที่เริ่มสตาร์ทระบบก็ขลุกขลักนิดหน่อย แต่สักพักก็เข้าที่เข้าทาง
เวลาสอบสูตรชงเครื่องดื่ม สอบขั้นตอนการทำอาหาร หรือการสอนตรวจนับสต๊อกวัตถุดิบ เราก็สอนกันผ่านแผนภูมิแบบนี้ ซึ่งช่วยให้ผู้ฝึกหัดเข้าใจเรื่องที่สอนได้รวดเร็วและทำงานเป็นเร็วขึ้นมาก
งานพัฒนาคนเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและต้องใช้เวลายาวนาน บางทียังไม่ทันเห็นผล เด็กก็มาลาออกไปเสียก็บ่อย เคยถามกันว่าแล้วมันคุ้มไหม? ...ก็สรุปกันว่า อย่างน้อยก็ได้ติดตัวเด็กไปใช้ในชีวิตเขา ส่วนเราเองเมื่อมีหน้าที่สร้างก็ต้องทำต่อไปเพราะตราบเท่าที่เขายังอยู่เป็นสต๊าฟร้าน เราก็จะได้ประโยชน์จากผลงานของเขาแน่นอน
“โก๋” มีประโยชน์มากขึ้น เมื่อเราเริ่มต้นโครงการ “กากกาแฟร่วมบุญ” โดยเปลี่ยน “กากกาแฟ” ที่เคยแจกฟรีให้คนทั่วไป เป็นการบรรจุใส่ถุงฟอยล์กาแฟรีไซเคิลแล้ววางจำหน่ายในราคาถูกๆเพียงถุงละ 10 บาท ลูกค้าที่อยากซื้อไปใช้ประโยชน์ขัดผิวหรือทำปุ๋ย ก็จะหย่อนเงินลงในกล่องที่คล้ายกล่องบริจาคซึ่งวางอยู่ข้างถาดกากกาแฟ พอครบเดือนเราก็เปิดกล่องรวบรวมเงินที่ได้ไปทำบุญทั้งหมดโดยไม่หักค่าใช้จ่ายใดๆ โครงการนี้ทำให้ชาวโก๋ได้ทำบุญร่วมกับลูกค้าทุกเดือน เราบริจาคให้ ร.พ.ช้าง , ซื้อผ้าอ้อมให้ห้อง ICU เด็ก, บ้านพักคนชรา, ให้ทุนการศึกษาเด็กนักเรียนชาวเขา ฯลฯ การตัดบางผลิตภัณฑ์ออกมาเป็นส่วนทำประโยชน์ให้สังคมโดยตรงนี้ผมดัดแปลงรูปแบบมาจากแนวทาง “ธุรกิจเพื่อสังคม”(Social Enterprise) ซึ่งหมายถึงองค์กรธุรกิจที่มีภารกิจสนับสนุนสังคมด้อยโอกาส ถึงเราจะยังเป็น S.E. เต็มตัวไม่ได้ ขอเป็นสักส่วนหนึ่งก็ยังดี
มนุษย์เกิดมาเพื่ออยู่รอด นั้นเป็นความจริง แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้เกิดมาเพียงเพื่อเอาตัวรอด
มนุษย์ยังต้องเกิดมาเพื่อเป็นมนุษย์ ...จิตใจที่สดใส งดงาม คือเครื่องหมายบอกระดับความเป็นมนุษย์ของคนๆนั้นว่ามากหรือน้อยเพียงไร? และผมเชื่อว่า “งานที่ดี” จะสามารถทำให้คนเราดีขึ้นได้
หลายครั้ง...ในการสัมภาษณ์งาน ผมมักจะจ้องตาของคู่สนทนาแล้วเอ่ยถามว่า
“น้องเชื่อไหมว่า คนเราจะดีขึ้นเพราะการทำงานได้?”
ถ้าเขาเชื่ออย่างผม เราก็อาจจะมีหนทางร่วมกัน!
http://www.preda-roastinghouse.com/index.php…