COFFIVINO (4) : Rare item
นับแต่ปี 2018 เป็นต้นมา ครูหนมก็แทบไม่เหลือเวลาว่างอีกเลย
ผมได้เห็นและสัมผัส Arabica Research Team ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง นับแต่เริ่มฟอร์มทีมก่อตั้ง มีอาจารย์ชำนาญการจากหลายสาขาเข้ามาร่วมกันทำงานเพื่อผสานทุกองค์ความรู้เข้าด้วยกันไม่ว่าจะเป็นสาขา Food science , สาขาการตลาดและท่องเที่ยว, สาขา IT , เศรษฐศาสตร์ พวกเขาทำวิจัยทั้งในห้อง Lab แล้วก็ขยายเทคโนโลยีที่ได้จากผล Lab ออกไปสู่ชุมชนปลูกกาแฟ กระทั่งถึงกับพยายามออกแบบโมเดลนำร่องตลาดซื้อขายกาแฟล่วงหน้านำพาผู้ซื้อให้พบเกษตรกรโดยตรงก็ยังทำ
Arabica Research Team ได้สร้าง Coffee Go Green ขึ้นมาเพื่อเป็นศูนย์กลางผลักดันให้โครงการต่างๆสัมฤทธิ์ผล
Coffee Go Green เป็นหน่วยปฏิบัติการวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีที่มีอาคารสำนักงาน มีห้องประชุม ห้องอบรม ห้อง Cupping ห้องหมัก ห้อง Lab ที่มีเครื่อง GC-O (Gas Chromatography – Olfactory ) เพื่อแยกและวิเคราะห์สารระเหยได้ที่ให้กลิ่นชนิดต่างๆ ห้องตาก LTLH ฯลฯ ทั้งหมดทั้งมวลล้วนแต่จัดหามาเพื่อสร้างองค์ความรู้และถ่ายทอดความรู้ออกไปสู่ชุมชน
เพื่อให้เกิดผลสุดท้ายเป็นสิ่งนามธรรมที่เรียกกันว่า “การพัฒนากาแฟที่ยั่งยืน”
ทุกปีจะต้องมีการเดินทางขึ้นดอยไปดูสวนกาแฟ บางปีก็ทำโปรเสสกันที่ดอยนั้นร่วมกับชาวบ้าน บางปีก็โฟกัสทำโปรเสสกันในมหาวิทยาลัยเพราะงานทำแล็บหนักมาก พอหมดหน้าโปรเสสก็จัดอบรมเกษตรกรบ้าง อบรมบุคคลทั่วไปบ้าง
กาแฟ micro lot ที่เกิดเนื่องจากการทำวิจัยของทีมฯ มาจากหลายแหล่งปลูก ส่วนใหญ่จะได้จากพื้นที่ ต. แจ้ซ้อน จ.ลำปาง ได้แก่ บ้านแม่แจ๋ม บ้านปางม่วง บ้านป่าเหมี้ยง บ้านป่าคาสันติสุข บ้านเย้า บ้านห้วยเหมี้ยง และในพื้นที่ ต.ห้วยชมภู จ.เชียงราย ได้แก่ บ้านปางขอน บ้านร่มเย็น พวกเขาทดลองโปรเสสกาแฟที่ปลูกในระดับความสูงไม่มากนักและแตกต่างหลายพื้นที่ เพื่อพยายามพิสูจน์อะไรบางอย่าง
คือกาแฟสายพันธุ์ธรรมดาๆ สูงไม่มาก ( ไม่เกิน 1000 m จากระดับน้ำทะเล) ก็สามารถพัฒนาให้อยู่ในระดับ Specialty หรือใกล้เคียงได้ด้วยการแปรรูปที่มีหลักการทางวิทยาศาสตร์ถูกต้อง
กาแฟพิเศษสร้างได้...ถ้าให้ความสำคัญกับความรู้
เวลาประเมินผลทางคุณภาพของกาแฟที่โปรเสสโดยเทคนิคใหม่จะต้องมีการทดสอบชิมและให้ผลคะแนนโดย Certified Q grader ซึ่งเขาจะชิมเทียบกับกาแฟที่โปรเสสด้วยวิธีแบบธรรมดา (เรียกว่าตัว Control) เพื่อยืนยันถึงความแตกต่างที่เกิดขึ้น โดยที่ผู้ชิมไม่รู้ว่าเป็นกาแฟตัวไหนบ้าง
ผลลัพธ์โดยรวมคือกาแฟเทคนิคใหม่ของทีมวิจัยฯ สามารถยกระดับ cupping score ขึ้นได้ 3-5 แต้มโดยเฉลี่ยเมื่อเทียบกับวิธีการโปรเสสแบบเดิมๆ ซึ่งคะแนนระดับนี้เกษตรกรสามารถทำได้ในต้นทุนใกล้เคียงเดิม...เพียงแต่เขาลงมือทำอย่างมีความรู้มากขึ้น
ในฐานะนักคั่วกาแฟ ผมรอเวลาที่กาแฟไทยจะมีคุณภาพสูงขึ้นทุกๆดอยจนสามารถเรียกได้ว่า กาแฟไทยมีคุณภาพสูงมากทั้งระบบเพราะเราจะมีสารกาแฟไทยดีๆให้คั่วกันตลอดปี เมื่อทั้งตลาดกาแฟโลกและกาแฟไทยให้การยอมรับผลงานของเกษตรกรบ้านเรา ความยั่งยืนจะคืนสู่ท้องถิ่น
ผืนป่าจะยังคงถูกดำรงรักษาด้วยเศรษฐกิจที่อยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลระหว่างคนปลูกกาแฟและป่าต้นน้ำ
ทุกคนช่วยกันทำให้กาแฟไทยเข้มแข็งได้ถ้าหากพยายามลงแรงคนละไม้ละมือ ทำความเจริญให้เกิดขึ้นจากจุดที่ตัวเองยืนอยู่ เหมือนอย่างที่ ‘ครูหนม’ และทีมงานได้ทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ...จนถึงวันนี้ผมก็ยังเห็น Arabica Research Team เขียนงานเขียน paper แล้วก็เตรียมขึ้นดอยกันอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
...ทีมวิจัยทีมนี้ถือเป็นความก้าวหน้าที่ยั่งยืนและเป็น Rare item ของวงการกาแฟไทยโดยแท้
#COFFIVINO4 #RAREitem
#ArabicaResearchTeam
#ThaiSpecialtycoffee
#CoffeeResearch
#LTLHcoffeeDrying