โก๋ครบโหล (10) ปีที่สิบ ธรรมดาเป็นพิเศษ
สิบปี ..เป็นวาระอันควรเฉลิมฉลองอย่างยิ่ง กว่าธุรกิจหนึ่งจะผ่าน 2 ปี ...5 ปี ...8 ปี มาจนถึงปีที่ 10 ได้นั้น เป็นเรื่องไม่ง่ายจริงๆ เพราะทุกหลักไมล์เหล่านั้นต้องแลกมาด้วยหยาดเหงื่อและน้ำตามิใช่น้อย ผมนั่งทบทวนเรื่องราวกว่าทศวรรษอยู่เงียบๆเป็นอาทิตย์
สิบปี ..เราจะคุยกับผู้คนว่าอะไร?
“ธรรมดาเป็นพิเศษ” คือคำที่วาบขึ้นมาในสมอง! นี่คือประโยคที่เราจะบอกกับลูกค้า ญาติ และสหายทั้งหลายว่า “เราเป็นร้านที่สนใจในความ ‘ธรรมดา’ เป็นพิเศษ” เราถนัดที่จะเป็นคนธรรมดา และมีความสุขที่เป็นแบบนี้
ปีนี้จึงเป็นปีที่โก๋กาแฟประกาศคำว่า “ธรรมดาเป็นพิเศษ” ออกมา ซึ่งสำหรับผมแล้ว มันคือจุดเคลื่อนที่สำคัญที่สุดของแบรนด์ท้องถิ่นแบรนด์นี้ ...มันคือการค้นพบตัวตนพร้อมๆกับค้นพบเป้าหมายในชีวิตของ “โก๋กาแฟ”
เรามีความสุขกับการเป็นร้านธรรมดาในชีวิตประจำวันของผู้คน ใครก็มากินเรามาใช้เราได้อย่างสบายใจโดยไม่ต้องเขย่งเท้าดื่ม เราคือ “คนธรรมดา” ที่ชอบอะไรเรียบง่าย ซึ่งความเรียบง่ายนั้นมักจะสอดคล้องกับการลดทอนความประดิดประดอยทั้งหลายทั้งปวง หรือการ “ไม่ปรุงแต่ง” เมื่อไม่ปรุงก็ไม่วุ่นวาย เมื่อไม่วุ่นวายก็ไม่เดือดร้อน...จนเกิดเป็นความสุขขึ้นมา
ความธรรมดานั่นแหละความสุข
ความธรรมดานั่นเองที่เป็นหนทางไปสู่ความสุข
ความธรรมดาจึงเป็นเป้าหมายที่เข้าถึงอย่างสมบูรณ์ได้ด้วยความธรรมดา
ระบบคิดของตำราพิชัยสงครามซุนวู กำหนดว่ากองทัพหนึ่งนั้นมีองค์ประกอบหลักอยู่ห้าประการได้แก่ ฟ้า ดิน ผู้นำ วิธีการ และ ปรัชญา โดยปรัชญานั้นอยู่ ณ จุดศูนย์กลางของระบบ อันเป็นตัวเหตุผลแห่งการเคลื่อนไหวทั้งหมดกับทั้งเป็นศูนย์รวมจิตใจและภารกิจ (mission) ของกองทัพ
สำหรับโก่กาแฟ “ธรรมดา” นั่นเองที่อยู่ตรงศูนย์กลางของเรา ผมค้นพบ “ปรัชญา” ขององค์กรตัวเองเมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี!
“ปรัชญาองค์กร” เป็นสิ่งที่กำกับการตัดสินใจ และความเป็นไปทั้งหลายขององค์กร โดยจะรู้ตัว (ว่ามีปรัชญา) หรือไม่ก็ตาม วิธีคิดและทัศนคติขององค์กรนั่นเองที่เป็นปรัชญา และมันคอยควบคุมเราอยู่ตลอดเวลา ยกตัวอย่างเช่น แทนที่จะบอกลูกค้าว่าเราเป็นบาริสต้าขั้นเทพ เราจะบอกว่าเราก็เป็นคนชงกาแฟธรรมดาที่พยายามเท่านั้น หรือ แทนที่จะประดับตกแต่งร้านให้มีสีสันสะดุดตา หรือประกอบด้วยเฟอร์นิเจอร์หรู ...เราจะใช้สีเรียบๆ กับโต๊ะเก้าอี้ธรรมดาๆ ที่นั่งสบาย เป็นต้น
ความเป็นธรรมดานั้นยังพิเศษตรงที่ เมื่อมีใครพูดถึงเราว่า “ไม่เจ๋ง” เราก็ยังไม่รู้สึกแย่ ...ก็เพราะว่าเราเป็นร้าน “ธรรมดา” หรือหากใครจะถามหาซูเปอร์สตาร์ นักชงขั้นเทพ เราก็ไม่ต้องเดือดร้อนจัดหา ..เพราะร้านธรรมดาไม่มีซุป’ตาร์ เรามีแต่ทีมโก๋!
เมื่อประกาศแนวทาง “ธรรมดาเป็นพิเศษ” ออกไป ใครๆต่างก็เห็นด้วยว่ามันคือวิถีของ “โก๋” ที่เป็นมาตลอดสิบปีจริงๆ ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีเพื่อน พี่น้องหลายคนได้นำแนวทางนี้ไปปรับใช้กับชีวิตการงานของเขาเอง เพื่อนผมคนหนึ่งเปลี่ยนการบรรยายในชั้นเรียนที่เขากำลังรู้สึกว่าน่าเบื่อ ไปเป็นการบรรยายที่เปี่ยมสีสัน เพราเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อเรื่องประจำวันเดิมๆว่าน่าเบื่อเป็นมองเห็นคุณค่าของงานธรรมดาๆ แล้วประณีตกับมันมากขึ้น
ในเชิงยุทธศาสตร์...การกำหนดวิถีเช่นนี้ อาจไม่ได้สร้างมูลค่าทางตัวเงินอย่างจับต้องได้ แต่เราคิดว่ามันเป็นการพาองค์กรไปสู่จุดที่ปลอดภัยที่สุดท่ามกลางการแข่งขันในโลกธุรกิจ คือหลีกเลี่ยงสนามแข่งขันออกไปเลย เมื่อเราไม่คิดขยายสาขา ไม่คิดทำแฟรนไชส์จึงเท่ากับเป็นการกำหนดขนาดของธุรกิจให้ไม่โตไปกว่านี้ หรือถึงจะโตขึ้นก็คงไม่มากดังนั้น เราก็ตัดการใช้เงินลงทุนส่วนนี้ไปเลย ทรัพยากรส่วนใหญ่ของเราก็จะถูกใช้ไปในการพัฒนาเชิงคุณภาพแทนปริมาณ ...ผลที่จะได้คือ “คุณภาพงานที่ดีขึ้นเรื่อยๆ” และยอดขายที่ดีกว่าก็จะเกิดตามมาเอง
เพราะที่สิบปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้ผมรู้แล้วว่า “หากคุณภาพดีขึ้น ยอดขายย่อมดีขึ้น” แน่นอน
เราเชิญอาจารย์จาก ม.เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มาเป็นวิทยากรฝึกสอนสต๊าฟเรื่องการพัฒนาประสาทสัมผัสทั้งการรับกลิ่น-รส หลังจากฝึกกันกว่า 3 เดือน นอกจากความรู้และทักษะที่ได้รับ เรายังได้สร้างเบลนด์กาแฟตัวใหม่ขึ้นจากการทำ Workshop ในครั้งนั้น เนื่องจากรสหวานนำซ่อนเปรี้ยวของมัน ..ผมตั้งชื่อมันว่า Simply Sweet ถือเป็นเบลนด์กาแฟพิเศษและอนุสรณ์สำคัญในวาระครบรอบ 10 ปีของเรา
กลางปี 2556 ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง โก๋กาแฟได้รับเกียรติเป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง “Slow Business สู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน” ผมกับปุ๊กผลัดกันเล่าถึงเรื่องราวของร้าน เสริมไปด้วยแนวคิดในการทำธุรกิจแบบโตช้าแต่มั่นคง จุดเริ่มสำคัญของ Slow business นั้นอยู่ที่ “ความพอดีของความต้องการ”
หาก Demand ของเรามากเกินสมควร เราจะไม่มีทางอดทนสร้างความมั่นคงในทางใดได้เลย ผมเริ่มรู้สึกว่า “ความคิด” ของเราก็พอมีประโยชน์ต่อสังคมได้เหมือนกัน
จากจุดที่ยืนอยู่ มองไปข้างหน้า ...ผมว่าชีวิตธุรกิจก็คล้ายกับชีวิตคน คือการต่อสู้และฝ่าฟันเพื่อมีชีวิตรอด ..ใครไม่ทำประโยชน์ ยากนักจะได้รับการยอมรับ ยากนักที่จะยืนหยัดบนแข้งขาของตัวเองได้ ส่วนใครที่เติบโตช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว ก็สมควรจะมีบทบาทใหม่คือ การเป็นที่พึ่งพิง หรือสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่มีกำลังมากพอจะขึ้นมามีประโยชน์ต่อไป เส้นทางข้างหน้าของเราอาจต้องเป็นไปเพื่อสิ่งนี้
มองกลับเข้ามายังภายใน คนทำงานในองค์กรของเรา ถึงแม้อาจจะไม่ใช่เด็กๆที่ High Profile แต่ก็ใช่ว่าจะพัฒนากันไม่ได้ อย่างน้อยพื้นฐานของพวกเขาก็เป็น “เด็กดี” ที่มีความฉลาดพอใช้ หากเราเก่งพอที่จะสอน เขาก็จะเก่งขึ้น และมีประโยชน์ได้มากขึ้น ตอนนี้ที่พวกเขาต้องการจากองค์กรก็คือ “ความเอาใจใส่” และ “ระบบการสอน” ที่ดี
...เราจะฝึกเด็ก local ให้เก่งขึ้นและดีขึ้นได้อย่างไร?