ภารกิจ OASIS (2) : Dream
ฤดูเก็บกาแฟเริ่มต้นขึ้นแล้ว!
ลำพูน-จอมทอง-แม่แจ่ม คือถนนสายที่เราเลือกเดินทางจากลำปางไปยังบ้านดูลาเปอร์ อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน ผม ปุ๊ก นก ป๋าและแม่ กำลังเผชิญกับหนทางที่แย่เอามากๆ กลางถนนเป็นร่องน้ำเก่าคดเคี้ยว หินตะปุ่มตะป่ำ ผสมรวมกับหลุมบ่ออีกมากมาย ในฐานะมือขับ..ผมต้องใช้สมาธิอย่างมากในการเลือกหาไลน์วิ่งที่ปลอดภัยและนุ่มนวลที่สุด โชคยังดีที่ตอนนี้เป็นหน้าหนาวที่ไม่มีน้ำฝนมาทำให้ถนนเปียกลื่น ไม่อย่างนั้นเราคงลำบากมากกว่านี้ เส้นทางที่ทั้งคดเคี้ยวขรุขระทำให้รถวิ่งไปได้ค่อนข้าง ช้าไม่เกินเกียร์ 2 ไม่รู้ว่าอีกนานไหมกว่าจะถึงที่หมาย?
เจ้าถิ่นบอกว่าเรามาผิดทางแล้ว หากมาสายจอมทอง-ฮอด-แม่สะเรียง แล้วเข้าแม่ลาน้อย ถึงแม้ระยะทางโดยรวมแล้วจะไกลกว่าแต่จะมาง่ายและปลอดภัยกว่านี้มาก
ทางลัดมันไม่ Safe !
ดูลาเปอร์ เป็นหมู่บ้านปกากญอเล็กๆขนาด 60 หลังคาเรือน ผู้คนที่นี่เลี้ยงหมูเลี้ยงไก่กันทุกบ้าน ปลูกหอมแดง ถั่วแดง และกาแฟ พวกเขาทอผ้าใช้เอง มีวิถีชีวิตเรียบง่าย เราจะเห็นหมา แมว ไก่ และหมูดอยวิ่งเล่นด้วยกันอยู่ทั่วไป ที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งคือ สัตว์เหล่านี้จะไม่ทะเลาะหรือรังแกกันเลย บางทียังเห็นหมาเดินเหยาะตามลูกเจี๊ยบด้วยสายตาอ่อนโยน ราวกับว่าตัวเองกำลังทำหน้าที่พี่เลี้ยงให้กับเด็กๆ ส่วนแมวที่ปกติควรจะต้องเป็นคู่ปรับกับหมา ก็กลับเดินผ่านกันไปมาอย่าง สบายอารมณ์ไม่ต่างจากเพื่อน บ้านที่คุ้นเคย
เรานัดพบกับ ‘แดง ดูลาเปอร์’ เจ้าของแบรนด์กาแฟน้องใหม่ที่ชื่อ ‘Namura’ ถึงแม้จะเป็นแบรนด์ใหม่ แต่แดงไม่ใช่หน้าใหม่ เขาคือนักแปรรูปกาแฟ หรือ Processor ที่กำลังมีบทบาทอย่างมากต่อวงการผู้ปลูกกาแฟของแม่ฮ่องสอน ทีมโรงคั่วกาแฟปรีดาเดินทางมาพบกับเขาครั้งนี้เพื่อสร้างกาแฟพิเศษร่วมกัน ตามแผนงาน..เราจะอยู่ที่ดูลาเปอร์อีกหลายวัน
“ เชอร์รี่ที่เข้ามาจะมาจากหลายบ้านครับ ทั้งจากเซโดซา บอมีโจ๊ะ แล้วก็ของดูลาเปอร์เอง ตอนนี้มีของเข้ามารอส่วนหนึ่งแล้ว พรุ่งนี้เช้าเราก็เริ่มงานได้เลย คืนนี้พักเอาแรงกันก่อน” แดงชวนให้แขกพักผ่อน
------
“กาแฟไทยจะสามารถสู้มาตรฐาน กาแฟระดับโลกได้มั้ย?” ลูกค้าคนหนึ่งเคยถามผม
“ได้ครับ แต่อาจจะต้องรออีกสักระยะ เรายังต้องพัฒนากันอีกหน่อย?” ผมตอบ
“ปัญหามันอยู่ที่ตรงไหน? สายพันธุ์ หรือดิน น้ำ อากาศ?”
“ทั้งระบบการผลิตครับ …ตลาด ผู้ปลูก ผู้แปรรูป นักคั่ว และผู้จัดจำหน่าย ทั้งหมดจะเป็นคนช่วยควบคุมคุณภาพกาแฟร่วมกัน “
“แล้วควรเริ่มจากจุดไหน?”
“สร้างแรงขับเคลื่อนด้วยกลไกตลาด และกำหนดทิศทางด้วย Perception ที่ถูกต้องเกี่ยวกับคุณภาพ”
-----
“ผมให้ราคารับซื้อเชอร์รี่ท ี่นี่สูงกว่าพ่อค้าคนกลางหร ือโรงงานทั่วไป โดยมีข้อแม้ว่าต้องตั้งใจเก ็บแต่ลูกที่สุกแล้วเท่านั้น และสวนที่ผมเลือกซื้อก็ต้อง ไม่มีมอด หรือใช้ยาอันตราย” แดงคุยในวงข้าว
“ตอนมาดูลาเปอร์ใหม่ๆ เมื่อหลายปีก่อน ชาวบ้านยังขายเชอร์รี่กันกิโลละ 10 บาทแค่ค่าแรงเก็บก็ไม่ได้แล้ว ใครจะไปอยากปลูกกาแฟกัน? พอผมมาบอกว่าให้ราคาดี ก็เลยมีคนปลูกกาแฟกันมากขึ้นอย่างที่เห็น” เขาเล่าต่อ
แดงเป็นคนเชียงใหม่ ทำมาหลายอาชีพตั้งแต่ช่างเฟอร์นิเจอร์ ตัวแทนประกันยันผู้รับเหมา จนเมื่อ 7 ปีที่แล้วลูกน้องพามาเที่ยว ที่นี่ เกิดประทับใจในภาพทิวทัศน์และบรรยากาศจึงตัดสินใจหันมา ทำกาแฟกับดูลาเปอร์ เขาไม่ได้คิดจะเปิดร้านกาแฟ เหมือนคนทั่วไป คิดแต่จะทำกาแฟสารให้ดี หรืออย่างมากก็เป็นผู้คั่วที่ดี ในเมื่อเป็นคนรักป่ารักดอยก็ควรเลือกทำงานที่ได้ใช้วัน เวลาบนที่สูงมากกว่าจะไปมีบทบาทเป็นมือชงกาแฟที่ต้องพึ่งพาทำเลในเมืองรู้จักตัวเอง จึงเลือกทำในสิ่งที่เหมาะกับตัวเอง
นักแปรรูปกาแฟหรือ Processor ไม่ใช่ผู้ปลูกกาแฟ แต่เป็นผู้รับไม้ต่อจากเกษตรกรในการเปลี่ยนผลกาแฟสุก (หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า เชอร์รี่) ให้เหลือเพียงเมล็ดสีเขียวหรือสารกาแฟที่พร้อมจะนำไปคั่วต่อไป งานนี้ไม่ใช่งานง่ายๆที่มีแค่เอาเชอร์รี่มาแช่น้ำ ตักเข้าเครื่องสีลอกเปลือก แล้วก็ตากแดด แต่มันคือการควบคุมขั้นตอนทั้งหลายให้ได้คุณภาพดีไม่มี ปัญหาติดเชื้อเกิดกลิ่นหมัก เน่า หรือขึ้นรา หรือเสียสภาพความสดใหม่ ยิ่งไปกว่านั้น งานแปรรูปหรือ Process ที่ดียังเป็นการสร้างสรรค์รสชาติพิเศษอื่น ๆ ให้แก่กาแฟ ไม่ว่าจะเป็นความเป็นกรด (acidity) ความหวาน หรือกลิ่นหอมอันซับซ้อนต่าง ๆ พูดง่ายๆว่า ถ้าหากเราไม่มีงาน process ดี ๆ กาแฟก็ไม่มีทางจะออกมาดีได้
เมื่อผู้แปรรูปเป็นคนรับซื้อเชอร์รี่โดยตรง ผู้แปรรูปจึงเป็นผู้กำหนดแรงจูงใจในด้านราคาต่อผู้ปลูก
ถ้าหากเราได้ผู้แปรรูปที่คาดหวังเรื่องคุณภาพสูงและกล้าให้ราคาที่สมเหตุสมผล เราก็จะเห็นเกษตรกรที่พยายามพัฒนากาแฟให้มีคุณภาพสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ
Processor ที่มีคุณภาพจึงเป็นผู้ช่วยสร้างเกษตรกรคุณภาพ
…ในทำนองเดียวกัน โรงคั่วที่มีคุณภาพก็ย่อมจะเป็นผู้ช่วยสร้าง Processor ที่มีคุณภาพเช่นกัน
นี่จึงคือความหมายของประโยคที่ว่า “ตลาดเป็นผู้กำหนดแรงขับเคลื่อน”
แต่อย่างไรก็ตาม…มันก็ไม่ใช่ทั้งหมดหรอก!
----
ผมนั่งดูภาพแผนที่ดาวเทียมจาก Google Earth แสดงพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน แดงชี้พอยท์เตอร์ไปที่ตำแหน่งของดูลาเปอร์ และเส้นทางที่ผมเพิ่งขับรถมาผ่านดอยอินทนนท์ และเขตอำเภอแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ในภาพจอคอมพ์มีการปักหมุดหมู่บ้านบนดอยสูงอีกหลายแห่งมากมายซึ่งเป็นเครือข่ายเกษตรกรที่ส่งกาแฟเข้ามาแปรรูปกับเขา
สิ่งที่แตกต่างระหว่างป่าเชียงใหม่โซนแม่แจ่มกับป่าแม่ ฮ่องสอนก็คือ ‘ความเป็นป่า!’ เพราะหากมองดูแม่แจ่มเราจะเห็นภูเขาหัวโล้นมากมายเต็มไปหมด ในขณะที่แม่ฮ่องสอนยังเป็นสีเขียวชะอุ่มอยู่มาก…ข้าวโพดยังบุกรุกเข้าแม่ฮ่องสอนไม่ได้!
“ตอนนี้ผมจะได้รับการติดต่อจากพี่น้องชนเผ่าในพื้นที่ต่างๆมาเรื่อยๆว่า ‘พี่ไปช่วยบ้านโน้นให้หน่อย ญาติผมเอง’ คือเขาอยากให้ไปช่วยดูและรับซื้อกาแฟจากแหล่งนั้นให้ด้วยเพราะเขามักจะโดนกดราคาจากพ่อค้าอยู่ ถึงอยากจะขายให้เจ้าอื่นก็ไม่รู้จะขายให้ใคร เพราะแม่ฮ่องสอนมันห่างไกล พวกพ่อค้าไม่ค่อยเข้ามารับซ ื้อเพราะเดินทางยาก ไม่ค่อยคุ้มเขา” แดงเล่า
“พอเราเข้าไปซื้อและกล้าให้ ราคาดี เขาก็มีกำลังใจปลูกและทำกาแฟดีออกมามากขึ้น ไร่ข้าวโพดก็จะเข้ามาไม่ได้ และอย่างที่เรารู้กัน คนทำไร่กาแฟไม่มีทางคิดจะตัดโค่นป่า เรามีแต่จะพยายามรักษาต้นไม้ใหญ่ไว้ให้มากที่สุดเพื่อให้กาแฟเติบโตได้อย่างสุขสบาย”
พูดมาถึงประโยคนี้ ผมรู้สึกถึงประกายความหวังจากแววตาของแดง
“อืมม์ นี่คือการรักษาป่ารูปแบบหนึ่ง…แดงคิดว่ากำลังเป็นผู้รักษาป่าอยู่ใช่หรือเปล่า?” ผมถาม
“ใช่” เขาไม่ลังเล
ถึงแม้จะเป็นที่รู้กันว่ากลไกตลาดคือสิ่งกำหนดการกระทำหลายอย่างของเรา แต่ผมกลับรู้สึกว่ามันก็เป็นแค่กลไกชนิดหนึ่งเท่านั้น ทว่า…กลไกจะทำงานได้อย่างไร ถ้าหากไม่มี “พลังงาน?”
โดยนิยามแล้ว..พลังงาน คือ ความสามารถในการสร้างความเปลี่ยนแปลง!
ความฝันต่างหากที่เป็นพลังงานของเรา ความฝันต่างหากที่ฉุดให้เรา ลุกขึ้นจากเตียงนอนอุ่นสบาย ออกมาสร้างความเปลี่ยนแปลงดีงามอะไรสักอย่างให้แก่โลกใบนี้! เราเพียงเลือกเฟ้นกลไกที่จะพาความฝันให้กลายเป็นความจริงได้แล้วก็ลงมือสร้างลงมือทำ
สำหรับแม่ฮ่องสอนและแดง…ป่า กับกาแฟนับเป็นสิ่งเดียวกัน
----
“เราจะเปลี่ยนแปลงหรือสร้าง ตลาดผู้บริโภคให้เข้าใจกับกาแฟคุณภาพได้ยังไง?” ลูกค้าคนเดิมถามผม
“เปลี่ยนคนจำนวนมากไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากมองให้ดี…ที่จริงคนดื่มเขาก็พัฒนาของเขาทุกวันอย ู่แล้ว” ผมตอบ
“อะไรที่ทำให้คนดื่มพัฒนาขึ้น?”
“คนทำกาแฟที่พัฒนาขึ้น”