Local Roast (9) หัวใจในใบไม้
“น้องคิดว่าต้นไม้มีชีวิตหรือเปล่า?” ผมถาม
“มีสิคะ ต้นไม้เป็นสิ่งมีชีวิต” หญิงสาวตอบ
“แล้วต้นไม้มีความคิดหรือเป ล่า? มีความรู้สึกหรือเปล่า?”
“อืมม์…….ไม่แน่ใจค่ะ”
ผมเริ่มบทสนทนากับน้องใหม่ท ดลองงานด้วยประโยคคำถามที่ค่อนข้างแปลก จากนั้นจึงเล่าเรื่องที่เคยอ่านเจอในหนังสือเกี่ยวกับงานทดลองของฝรั่งตะวันตกชิ้นหนึ่งให้ฟัง
ก.พ. 1966, Cleve Backster เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสอบสวนโดยใช้เครื่องจับเท็จ (Polygraph) ขณะที่กำลังรดน้ำต้นวาสนา (Dracaena Cane) ที่อยู่ในห้อง Lab เขาก็เกิดความคิดอยากทดสอบดูว่าจะสามารถวัดค่าอัตราการดูดน้ำขึ้นสู่ลำต้นโดยการใช้เครื่องจับเท็จที่เขามีอยู่นี้ได้ไหม? เช้าวันนั้นเขาจึงติดตั้งขั้วไฟฟ้าของเครื่องวัดเข้ากับใบไม้ แล้วดูค่ความต้านทานไฟฟ้าที่เปลี่ยนไปของต้นไม้ในช่วงเวลาและสถานการณ์ต่างๆ
ปกติแล้วเครื่องจับเท็จสามารถใช้ตรวจสอบสภาวะทางอารมณ์ของมนุษย์ได้ หากมนุษย์มีการตอบคำถามหรือพูดจาไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ตนรับรู้อยู่แล้วก็จะเกิดความเครียดหรือภาวะทางอารมณ์ที่ผิดไปจากปกติ ซึ่งก็จะส่งผลทำให้ค่าความต้านทาน หรือค่าการนำไฟฟ้าของร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วยความรู้ในวิทยาศาสตร์แขนงนี้เป็นที่ยอมรับกันแพร่หลายแล้วในยุคนั้นมีการเปิดโรงเรียนสอนหลักสูตรการใช้ Polygraph อย่างเป็นเรื่องเป็นราวให้แก่เหล่าเจ้าหน้าที่สืบสวนอเมริกันเลยทีเดียวที่ผ่านมาพวกเขานำมันมาใช้กับคนแต่ยังไม่มีใครเคยทดลองกับต้นไม้
Backster จุ่มใบไม้ลงไปในถ้วยกาแฟร้อนของเขาความต้านทานไฟฟ้าของใบไม้ค่อยๆลดลงอย่างช้าๆซึ่งเป็นอาการคล้ายๆกับคนที่กำลังเหนื่อยล้า กราฟที่อ่านได้จากเครื่องก็ค่อนข้างราบเรียบไม่น่าแปลกใจอะไร แต่เขาอยากเห็นผลการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจกว่านั้น Backster จึงเกิดแว่บความคิดขึ้นมาว่าเขาน่าจะลองจุดไฟเผาใบไม้แล้วดูซิว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง?
ฉับพลันเพียงแค่คิด!…ปากกาพล็อตกราฟของเครื่องจับเท็จก็เกิดแกว่งตัวขึ้นอย่างรุนแรงผิดปกติ สร้างความแปลกใจให้เขามากในบริเวณนั้นมีเพียงแค่เขากับต้นไม้และเครื่องมือวัดเท่านั้น! ปากกาเขียนกราฟยังคงแกว่งตัวแสดงอาการคล้ายกับที่เคยวัดได้จากคนที่กำลังอยู่ในอารมณ์หวั่นไหว จนกระทั่งเมื่อเขาล้มเลิกความตั้งใจที่จะเผาใบไม้ กราฟก็กลับมาอยู่ที่ระดับปกติ! เหตุการณ์ในวันนั้นจึงเป็นวันเริ่มต้นของการทดลองอีกจำนวนมากเพื่อยืนยันสมมติฐานของเขาว่า “ต้นไม้ก็มีการรับรู้” หรือมีจิตสำนึกที่ไม่ต่างไปจากสิ่งมีชีวิตชั้นสูงเช่น คน หรือ สัตว์
เขาอยากรู้ว่าต้นไม้จะความรู้สึกต่อสิ่งเร้าที่ซับซ้อน อย่างเช่น การตายหรือการถูกทำลายของสิ่งมีชีวิตอื่นๆที่อยู่ใกล้ๆ อย่างเช่นการตายของกุ้งหรือไม่? เขาต่ออุปกรณ์วัดเข้ากับต้นไม้อีก 3 ต้น ที่ถูกวางอยู่คนละห้อง และทำให้เกิดเหตุการณ์สังหารกุ้งโดยใช้เครื่องมือหย่อน กุ้งน้ำเกลือลงในหม้อน้ำเดือดที่อยู่ในห้องถัดไป โดยตั้งเวลาให้มีการหย่อนกุ้งลงอย่างไม่ซ้ำรูปแบบเวลา เพื่อให้ได้ผลการทดลองที่น่าเชื่อถือได้มากที่สุด
ผลก็คือ…ต้นไม้มีอารมณ์ร่วมกับเหตุการณ์ตายของกุ้งถึงแม้จะไม่ได้อยู่ร่วมห้องเดียวกัน
ต้นไม้มีความสามารถทางโทรจิตเสียด้วยซ้ำไป!
ทีสหภาพโซเวียต…มีการทดลองในแบบคล้ายกับที่อเมริกา โดยการตรวจวัดค่าความต้านทานไฟฟ้าของต้นไม้ขณะเกิดสถานการณ์ต่างๆ อย่างเช่นทดลองให้กะหล่ำปลี ต้นหนึ่งถูกคนหักทำลายลงต่อหน้าต่อตาเพื่อนกะหล่ำอีกกระถางหนึ่ง พวกเขาพบว่าต้นกะหล่ำมีความรู้สึกหวั่นไหวต่อการถูกทำร้ายของเพื่อน และเมื่อปล่อยให้เหตุการณ์ผ่านไปสักพัก เมื่อคนที่เพิ่งทำร้ายเพื่อนเดินกลับมาที่จุดเกิดเหตุอีกครั้ง กราฟอารมณ์ก็กลับมาเต้นอีก… ต้นไม้จำคนที่ทำร้ายเพื่อนได้!?
‘ความเชื่อ’ ของคนโบราณที่ว่าต้นไม้มีวิญญาณสิงสถิตอยู่อาจไม่ใช่เรื่องล้าสมัยเสียแล้ว
ผมมักจะเล่าเรื่องนี้ให้เด็กๆในร้านได้ฟังเพื่ออธิบายความเชื่อบางอย่างของตัวเอง โดยหวังว่าน้องจะเข้าใจว่าเรามองและคิดกับสิ่งรอบตัวอย่างไร
“หากเรามองต้นไม้เป็นเครื่องประดับหรือเห็นเป็นทรัพย์สินส่วนหนึ่งของการ ‘ทำการค้า’ เราจะปฏิบัติกับพวกเขาในแบบ เดียวกับที่ทำกับสิ่งของอื่นๆทั่วไป พอเหี่ยวพอเก่าอย่างมากก็โยนทิ้งแล้วซื้อต้นใหม่มาเปลี่ยน แต่ถ้าเรามองว่าต้นไม้ก็มีชีวิต มีจิตใจ มีความรู้สึกนึกคิดไม่แตกต่างกับมนุษย์ …เราจะปฏิบัติกับเขาต่างออกไป เราจะละเอียดอ่อนมากขึ้น ระมัดระวังมากขึ้นอ่อนโยนมากขึ้น …นี่คือการ “เชื่อมต่อ” ที่พิเศษระหว่างเรากับสิ่งแวดล้อมรอบตัว”
นี่ไม่ใช่เรื่องของ‘ความเชื่อ’ แต่เป็นเรื่องของ ‘สัมผัส’ ที่ละเอียดอ่อนเป็นเรื่องของ ‘ความเข้าใจ’ ที่เกิดจากการมองให้ลึกซึ้ง โดยใช้หัวใจเข้ามาร่วมพิจารณา
“ต้นไม้ มด หนอน กิ้งก่า ที่จริงแล้วเขาก็เป็นเพื่อนเรา มีหัวจิตหัวใจเหมือนเราถ้าหากเราอ่อนโยนต่อเขาๆก็จะมีความสุข เมื่อเขามีความสุขเราก็มีความสุข ลูกค้าก็มีความสุข…ร้านของเราก็จะมีแต่ความสุข” ผมสรุป
“เข้าใจหรือยังว่าทำไมร้านเรายังอยู่ได้มาจนถึงวันนี้? ”
--------
เราเห็นคนพูดคุยถึงเทคนิคการชงการคั่ว การโปรเซสกาแฟกันมามากต่อมากแล้ว แต่วันนี้ผมกลับพูดเรื่องความรู้สึกของต้นไม้ใบหญ้า นั่นเป็นเพราะผมเองก็เริ่มรูั้สึกว่าบางทีเราก็มุ่งทำให้กาแฟมันอร่อยมันดีมากเสียจนพาลคิดว่าสิ่งอื่นที่นอกไปจากกาแฟนั้นเป็นเรื่องไม่สลักสำคัญไปเสียแล้ว
แต่จริงหรือที่เทคนิคจะสำคัญไปกว่าหัวใจ?
กาแฟไม่ใช่หัวใจ…หัวใจก็คือ หัวใจ!
และหัวใจนี่แหละที่ใช้ผลิตกาแฟ , ร้านกาแฟ, สังคมกาแฟ รวมไปจนถึงโลกอันเป็นที่ตั้งของกาแฟ
ตอนสอนแทมป์กาแฟให้บาริสต้า สอนจนเหนื่อยก็ยังแทมป์ออกมาขมเฝื่อน จนกระทั่งบอกเขาว่า “นุ่มนวลแต่หนักแน่น…คิดว่า กาแฟเป็นน้องนุ่งของเรา” เด็กกลับเข้าใจมากกว่าที่เคยพูดว่าให้ใช้แรงเท่ากับ 15 กิโลกรัม
แทนตารางเวรรดน้ำต้นไม้…ผมพบว่าเด็กๆตัดแต่งและดูแลต้นไม้ได้สม่ำเสมอขึ้นเมื่อบอกเขาว่า ต้นไม้คือเพื่อนคือญาติ
แทนที่จะบอกให้พยายามทำให้ลูกค้าพอใจเสมอ…เด็กๆทำงานได ้ประสิทธิภาพที่นุ่มนวลขึ้นเมื่อบอกเขาว่า หน้าที่ของเขาคือดูแลทุกคนที่หนีร้อนเข้ามาพึ่งเย็นในร้านของเรา
ผลของงานจะดีที่สุด ถ้าหากเราใช้หัวใจนำทาง
นึกถึงตอนขึ้นไปเยือนดอยช้างคราวก่อน ขณะนั่งทอดสายตามองหมู่ทิวเขาและไร่กาแฟ เราได้ยินเสียงเพลงลอยล่องมาจากท้องไร่ ผมฟังไม่ออกว่าบทเพลงภาษาอาข่านั้นมีความหมายว่าอะไร รู้เพียงคุณยายที่กำลังเดินเก็บผลกาแฟอยู่กำลังเพลิดเพลินมีความสุขกับงานจนลืมเหนื่อยลืมร้อน…กาแฟรสมือยายจะหอมอร่อยหรือไม่? ผมไม่รู้
แต่ที่รู้แน่คือ…กาแฟวันนั้นเพราะเหลือเกิน
----
บทเสริม
ผมนั่งนึกอยู่นานว่าจะเขียน ‘นโยบาย’ ของโรงคั่วกาแฟปรีดาในข้อสุดท้ายว่าอะไรดี? นอกเหนือจากเป้าหมายอันเกี่ยวข้องกับคุณภาพของกาแฟและการตอบโจทย์ให้แก่ลูกค้า
ในที่สุดก็ได้ข้อสรุปเสียที … เป็นโรงคั่วอุดมสุข