Curve 2022 : สาเหตุปลายทาง
Curve 2022 : สาเหตุปลายทาง
อริสโตเติล (384-322 ปีก่อนคริสตกาล) มองว่าสิ่งทั้งหลายที่ดำรงอยู่ล้วนมีสาเหตุอยู่ที่ปลายทางของมัน หรือพูดง่ายๆว่าสิ่งต่างๆไม่ว่าจะเป็นอวัยวะของคนและสัตว์ต่างก็ถูกออกแบบขึ้นเพื่อทำหน้าที่อะไรบางอย่าง เรียกว่า ‘สาเหตุปลายทาง (final cause)' เช่น กระเพาะอาหารถูกออกแบบมาเพื่อย่อยอาหาร ปีกถูกออกแบบมาเพื่อบิน
.
‘ภาวะแฝง’ หรือศักยภาพ (Potentiality) คือความสามารถดีที่สุดที่สิ่งมีชีวิตหรือวัตถุจะสามารถเป็นได้ ส่วน ‘ภาวะจริง' (Actuality) คือจุดหมายปลายทางของภาวะแฝง อิฐกองหนึ่งสามารถจะเป็นปราสาทราชวังได้ หินก้อนหนึ่งสามารถกลายเป็นรูปสลักอันงดงาม และแอปเปิ้ลลูกหนึ่งก็มีศักยภาพที่เป็นอาหารบำรุงร่างกายหรืออาจจะหล่นร่วงลงสู่พื้นดินก็ได้
สรรพสิ่งของอริสโตเติลจึงเกิดขึ้นมาโดยมีเป้าหมายเป็นการทำหน้าที่อะไรสักอย่างตามแต่ศักยภาพของมัน
--------------
กาแฟต้นหนึ่งมีศักยภาพที่จะเป็นสารกาแฟคุณภาพสูง
สารกาแฟคุณภาพสูงมีศักยภาพที่จะเป็นกาแฟคั่วคุณภาพระดับ Specialty
ในขณะที่นักชงเองก็มีหน้าที่ดึงศักยภาพของกาแฟคั่วให้ออกมาเป็นเครื่องดื่มที่ดีงาม
นักคั่วเก่งๆนั้นมีฝีมือเก่งกาจก็จริง แต่เขากลับไม่สามารถคั่วกาแฟดีเฟคให้กลายเป็นกาแฟดีได้
--------------
บางที..วิทยาศาสตร์กับปรัชญาก็เป็นเรื่องเดียวกัน การค้นหาความจริงในธรรมชาติ (วิทยาศาสตร์) นั้นที่จริงแล้วก็ต้องพึ่งพาอาศัยแนวคิดทางปรัชญาเป็นฐานตั้งต้นอยู่ไม่น้อย ในทางกลับกัน เมื่อพินิจรวมกับพิเคราะห์...ความจริงที่เผยตัวขึ้นก็สามารถก่อเกิดเป็นแง่คิดอันลึกซึ้งเกี่ยวกับชีวิต (ปรัชญา) เช่นกัน
ในห้วงยามที่ผู้คนตั้งคำถามถึงความจริงความลวงและนิยามของกาแฟพิเศษ...
ผมได้แต่ตั้งคำถามถึง 'สาเหตุปลายทาง' ของ Roaster
เขียนโดย...อาคม สุวัณณกีฏะ