ปีที่ 8 ห้องรับแขก
โก๋ครบโหล (8) ปีที่แปด ห้องรับแขก
ถ้าหากวันนี้ดี ก็ไม่ต้องกลัวพรุ่งนี้!
กลับมาคิดถึงเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านไป ผมคิดว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันมีเหตุมีผลของมันอยู่เสมอ วันนี้เป็นผลมาจากเมื่อวาน เรื่องดีก็มาจากเหตุดี เรื่องร้ายก็มาจากเหตุที่ไม่ดีหรือประกอบไปด้วยอวิชชาบางอย่าง หน้าที่ของเราในวันนี้ก็คือการยอมเข้าใจต่อเรื่องราวทั้งหลาย แล้วเดินหน้าทำเหตุที่ดีต่อไป
ก่อนจะเริ่มก่อสร้าง ที่นี่เป็นร้านอาหารตามสั่งเก่าๆ ขนาด 200 ตารางเมตร หลังคามุงสังกะสีจนเต็มทั้งหมด ทำให้อากาศร้อนอบอ้าวสุดๆ ห้องน้ำด้านหลังก็ทรุดโทรมและเต็มไปด้วยร่องรอยขีดเขียน รั้วของร้านใช้ท่อเหล็กกลมปักเป็นระยะโดยใช้ถังน้ำมัน 200 ลิตรผ่าครึ่งแล้วตีแผ่ให้เป็นแผ่นยึดเข้ากับเสากลมเป็นผนังรั้วตลอดแนว เคยมีคนมาเช่าก่อนหน้านี้หลายเจ้าแต่ก็ไปไม่รอด คนรู้จักหลายคนพอรู้ว่าเราจะย้ายมาสร้างร้านกันที่นี่ต่างก็ลังเล ทักท้วงว่าจะไหวเหรอ? ที่นี่ร้อนมาก ลูกค้าจะอยู่กันยังไง? ยิ่งได้ยินมาว่าเจ้าที่ก็แรงเสียด้วย!
เรื่องร้อนเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องกังวลมากที่สุด โก๋ไม่เคยมีนโยบายติดแอร์ ดังนั้นเราจำเป็นต้องทำให้ร้านเย็นสบายโดยไม่มีแอร์ให้ได้ เต้เสนอให้รื้อหลังคาเก่ารอบอาคารหลักทิ้งทั้งหมดเพราะเป็นอุปสรรคต่อการไหลของลมทำให้อากาศไม่หมุนเวียนและกักความร้อนที่แผ่ลงมาจากสังกะสี แล้วเพิ่มต้นไม้ใหญ่เข้าไปเป็นหลักให้ร่มเงา ส่วนบริเวณใช้สอยรอบนอกก็ทำเป็นแนวหลังคาใสติดไม้ระแนงเพื่อให้กันฝนได้และยังให้ร่มอีกด้วย หลังคาแนวนี้จะมีอยู่เฉพาะบริเวณโดยรอบที่ชิดกับรั้ว ส่วนพื้นที่ตรงกลางให้เว้นไม่ต้องมีหลังคาเพื่อให้ลมเดินผ่านได้สะดวก
ปุ๊กกับเต้ ช่วยกันรวบรวมข้อมูลทั้งฟังก์ชั่นที่ต้องการใช้กับระบบงานของเรา วัสดุตกแต่งที่เราพอหาได้ทั้งประตูเก่า บานหน้าต่างเก่า ไปจนถึงไม้เก่าที่ผมพอมีเก็บอยู่ที่บ้าน มาผสมผสานร่วมกันเพื่อความคุ้มค่า ประหยัดงบประมาณ ความทุ่มเทในการออกแบบของทั้งสองปรากฏเป็นภาพ 3D ที่ผมเองก็ไม่คิดมาก่อนว่าเราจะสามารถทำร้านออกมาได้ร่มรื่นน่าอยู่กว่าเดิมอย่างนี้
ร้านใหม่ของเราหน้าตาเหมือนบ้านไทยเก่าๆ มีเสาไม้ ผนังไม้พร้อมฝาไหล หรือผนังไม้กลที่เลื่อนปิดเปิดได้อันเป็นสไตล์ดั้งเดิมของบ้านล้านนา กำแพงประกอบด้วยหน้าต่างเกล็ดไม้บานเล็กๆวางอยู่เป็นระยะทำให้ไม่รู้สึกทึบตัน เราเพิ่มต้นไม้ใหญ่เข้าไปหลายต้น ทั้งอินทนิลน้ำ แก้วพิกุล หมากเขียว ช่วยให้ร่มเงาครอบคลุมพื้นที่ด้านนอกอาคาร แต่ด้วยความที่เพิ่งปลูกเราคงต้องรออีกสักพักใหญ่ๆกว่าต้นไม้จะให้ร่มอย่างที่หวัง บ่อปลาตื้นๆทรงแคบทอดตัวเลียบแนวชายคาทำให้บริเวณด้านในมีสภาพคล้ายเกาะที่ได้รับความชุ่มชื่นจากละอองน้ำอยู่ตลอดเวลา คนกับปลาได้อยู่ใกล้ชิดกันเป็นพิเศษ พื้นในอาคารเป็นพื้นปูนขัดมันง่ายๆ ส่วนพื้นด้านนอกปูด้วยอิฐมอญก้อนใหญ่ที่สามารถเก็บความชุ่มชื้นไว้ได้ดีกว่าพื้นปูน ทิศการวางตัวของร้านเป็นไปในแนว เหนือ-ใต้ ลมจึงสามารถเคลื่อนผ่านเข้าออกได้สะดวก โก๋ใหม่มี่พื้นที่ใช้สอยใกล้เคียงกับร้านเดิม แต่ทำงานสะดวกกว่า การวางตำแหน่งโซนผลิตให้อยู่เป็นจุดศูนย์กลางร้าน ทำให้ทั้งคนขายและลูกค้าได้อยู่ใกล้กัน ช่วยให้ได้ทั้งความรู้สึกอบอุ่นและประหยัดแรงในการเดินไปบริการตามโต๊ะ การดูแลก็ทำได้ทั่วถึงมากกว่า
เคาน์เตอร์หลักที่เป็นจุดแรกรับลูกค้าอยู่ลึกจากประตูหน้าเข้าไปพอสมควร ลูกค้าต้องเดินผ่านบริเวณระแนงปลูกกล้วยไม้ปากทางเข้า มาจนถึงชายคาหน้าร้านที่ค่อนข้างเตี้ยเหมือนอย่างบ้านโบราณทางเหนือทั่วไป แต่เมื่อผ่านลึกเข้ามาอีกก็จะกลับเจอโถงสูงเหมือนหลังคาโรงอาหารทำให้เกิดความรู้สึกโปร่งโล่งกว่าปกติ...เต้บอกว่านี่คือเทคนิคการระเบิด Space !
มุมพิเศษสุดเห็นจะเป็น ชิงช้า หน้าร้าน เสาไม้กับบานประตูเก่ารวมร่างเป็นชิงช้าตัวโปรดของใครต่อใครโดยเฉพาะเด็กๆ
เสียงตอบรับจากลูกค้าดีมากนับตั้งแต่วันเริ่มเปิดบริการ บางคนบอกว่าที่นี่เป็น ‘โก๋’ ยิ่งกว่าที่เก่าเสียอีก ความเครียด ความอึดอัดของผมที่เคยเก็บสะสมมาก่อนย้ายร้านนั้นหายไปหมดสิ้น รอยยิ้มและเสียงหัวเราะของทุกคนเป็นที่สุดของรางวัลจากการทำงานหนักของพวกเรา เสียงบอกเล่าปากต่อปากดึงลูกค้าเก่าให้ติดตามมาเยี่ยมชม ยอดขายของเราอยู่ในระดับที่น่าพอใจมาก จากเดิมที่ผมคาดว่าคงต้องใช้เวลาสักสองสามปีกว่าที่จะได้ปริมาณลูกค้าเทียบเท่ากับที่เราเคยมี แต่แค่สองสามเดือนเราก็สามารถกลับมาอยู่ที่จุดนั้นได้แล้ว
เกือบสิบชีวิตที่ติดสอยห้อยตามมาสร้างร้านด้วยกันไม่ต้องกังวลแล้ว..ทุกอย่างไปได้ดี
เมื่อสถานที่ลงตัว ผู้คนมาใช้บริการจึงมีเพิ่มขึ้น หลายคนใช้ร้านโก๋เป็นห้องรับแขกต้อนรับเพื่อนฝูง ญาติมิตรจากต่างเมือง วันเสาร์-อาทิตย์ โก๋กาแฟจะเป็นพื้นที่ครอบครัวสุขสันต์ พ่อแม่พาลูกน้อยมาทานขนม นม เนย บางทีก็มีลูกพาพ่อแม่มาหย่อนใจก่อนที่จะไปทำธุระกันต่อ วันไหนฤกษ์งามยามดี ก็จะมีเจ้าบ่าวเจ้าสาวแอบมาชิลล์พักครึ่งหลังพิธีช่วงเช้า แล้วค่อยกลับไปเตรียมตัวสำหรับงานเลี้ยงกลางคืนต่อ...บางคู่นั่งดื่มกาแฟในร้านทั้งที่ด้ายมงคลยังมัดมือติดกันอยู่ก็มี (ฮา)
เมื่อทุกอย่างเข้ารูปเข้ารอย เรากลับมาคุยกันถึงอนาคตของ ‘ปรีดา’ โรงคั่วกาแฟซึ่งตอนนี้ย้ายจากห้องครัวไปอยู่ในโรงอู่ซ่อมรถเก่าหน้าบ้านเรียบร้อยแล้วว่าควรจะเป็นอย่างไรต่อไป? ลูกค้าส่วนใหญ่ของเราซื้อผ่านอินเทอร์เน็ตยังพอใจในคุณภาพของกาแฟอยู่หรือเปล่า? ผมรู้สึกว่าคุณภาพงานคั่วของเราควรจะดีกว่านี้ แต่ต้องอาศัยการทดลอง วิจัย และเพิ่มองค์ความรู้ให้กับตัวเองอีกมากพอสมควร หนังสือหนังหาที่สะสมรวบรวมมายังรออยู่บนหิ้งให้เรากลับไปค้นคว้าเพิ่มเติม จากการประชุมกันหลายครั้ง...เราสรุปที่จะรวมสององค์กรคือ โก๋ และ ปรีดา เข้าด้วยกันเพื่อเพิ่มพลัง (synergy) ขับเคลื่อนไปข้างหน้า แต่คงต้องค่อยเป็นค่อยไป สิ่งแรกๆที่สามารถทำได้เวลานี้คือ การเพิ่มองค์ความรู้ และระบบงานผลิตที่มีประสิทธิภาพและเสถียรภาพมากกว่าเดิม
ผมต้องสร้าง Roast Master คนใหม่เพื่อเป็น Back up และ Battery ให้โรงคั่ว ..โดยสร้างจากเด็กในโก๋นี่แหละ!
ปลายปีมีสถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ทางภาคกลาง ผู้คนหลั่งไหลขึ้นสู่ภาคเหนือ บรรยากาศปลายปีที่ลำปางจึงคึกคักมาก แต่เราเองก็ยิ้มได้ไม่เต็มที่หรอก เพราะคนที่เขามาใช้จ่ายที่นี่ต่างก็เดือดร้อนกันอยู่ ลูกค้าบางคนเล่าพร้อมแววตาเศร้าว่าตอนนี้รถยนต์ของเขายังจอดแช่น้ำอยู่ที่เมืองกรุงอยู่เลย ผมรู้สึกว่าถึงร้านเราจะไปได้ดีในยามนี้ แต่ถ้าหากคนอื่นๆลำบากมากๆเข้า ยังไงเราก็ต้องได้รับผลกระทบด้วยอย่างแน่นอน ดังนั้น การช่วยเหลือคนรอบข้างตามกำลังเท่าที่ทำได้ จึงเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งขององค์กรธุรกิจทุกองค์กร เพราะขณะที่ช่วยเขา เราเองก็จะปลอดภัยตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม...ถือว่าปีนี้เราไปได้ค่อนข้างดี หากผมจะมีกังวลอยู่บ้างก็คงแค่เรื่องนโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาทที่รัฐบาลเตรียมจะปรับขึ้นในเร็วๆนี้เท่านั้น!