My way (2) แล้วผมจะขายอะไรดี?
ผมจะขายกาแฟอะไรดี? นึกจะขายกาแฟตัวไหนก็มีคนเขาขายอยู่แล้วเต็มไปหมด การเริ่มต้นของคนหน้าใหม่นั้นเหมือนจะง่ายแต่ไปข้างหน้ายากจริงๆ
ผมว่าตลาดมันเป็น Red Ocean มากๆจนนึกไม่ออกเลยว่าจะไปทางไหนต่อดี
----
Q : คนขายกาแฟไทย-นอก หน้าใหม่หน้าเก่าเต็มไปหมด แล้วผมจะขายอะไรดีถึงจะรอดครับ?
A : เริ่มต้นที่คำถามนี้มันไปต่อยากนะ ลองถอยตัวเองออกมามองมุมกว้างขึ้นสักหน่อยก่อนดีไหม?
ตอนนี้ผมเห็นอะไร? ผมเห็นคนทำงานอยู่กับบ้านมากมาย คนเหล่านี้มีเวลาให้กับความสุขเล็กๆน้อยๆระหว่างวันมากขึ้นกว่าแต่ก่อน เห็นคนดื่มกาแฟที่ชงด้วยตัวเองมากขึ้น เห็นคนสอนความรู้ด้านกาแฟเฉพาะทางที่แตกแยกย่อยสาขาลงไป ถึงขนาดที่อีกไม่นานก็คงตั้งเป็นวิทยาลัยกาแฟเป็นเรื่องเป็นราวได้แล้ว ฯลฯ
นี่ยังไม่นับเรื่องเครื่องชง เครื่องคั่ว เครื่องบด เครื่องคัดแยกเมล็ด ฯลฯ ทั้งระดับครัวเรื่อนและอุตสาหกรรมนะ
เมืองไทยเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคกาแฟในเวลาเดียวกัน ดังนั้นห่วงโซ่อุปทานจึงทั้งกว้างและลึกมากๆ มีการจ้างงานในอุตสาหกรรมกาแฟไทยตั้งแต่บนดอยลงมาจนถึงในตรอกซอยข้างบ้านของทุกคน
มีข้าวของเครื่องใช้ วัตถุดิบ และอาชีพจำเพาะทางแขนงต่างๆเกิดขึ้นจำนวนมากเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่กำลังขยายตัว
เราอาจจะอยู่ในจุดไหนก็ได้ ขอแค่อย่าดื้อหรือยึดติดกับโมเดลเก่าๆที่เคยทำมาก่อน
ต่อคำถามว่าตอนนี้ตลาดกาแฟเป็น Red Ocean หรือน่านน้ำสีแดงที่แข่งขันหนักหน่วงไปแล้วหรือไม่นั้น ผมขอตอบว่าเป็นทั้ง "ใช่" และ "ยังไม่ใช่" แต่ยอมรับว่าตลาดกาแฟเป็นตลาดที่เปลี่ยนแปลงไวมากจริงๆ ส่วนที่เคยง่ายจะกลายเป็นยากมากๆได้ภายในชั่วเวลาไม่กี่สัปดาห์
อย่างไรก็ตาม นี่คือข้อแนะนำที่ไม่ค่อยเป็นระบบเท่าไหร่จากผม
1. อย่าคิดทำกาแฟถ้าหวังจะสำเร็จภายในเวลาสั้นๆแค่ปีสองปี
แทบทุกคนที่เขาประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงนั้นเขาต้องอดทนมากๆ ถ้าทำใจรอนานๆขนาดนั้นไม่ได้ก็ไม่ต้องเข้ามาเสียเวลากับมัน
2. คนที่มองเห็นปัญหาของตลาดและสามารถเข้ามา "ตอบโจทย์" ได้จะสามารถสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ๆและเกิดเป็นน่านน้ำสีน้ำเงินที่เขาได้ครอบครองเป็นเจ้าของในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
ปัญหาของตลาดมีมากมายและเลื่อนไหลไปไม่หยุด ลองมองให้ดี หมั่นทดสอบความคิดและไอเดียที่เกิดขึ้นจากการเห็นปัญหาเหล่านั้นอยู่บ่อยๆและสม่ำเสมอ
3. Fashions fade, style is eternal [Yves Saint Laurent]
อะไรที่เป็นแฟชั่นหวือหวาจะผ่านเข้ามาเร็วและออกไปเร็วมาก หากจะคิดเล่นกับมันต้องคิดให้ดีว่าจะคุ้มกับเงินและเวลาที่เสียไปหรือไม่? ทุนที่ต้องจ่ายไปอาจจะไม่คุ้ม ยังไม่นับถึงจุดยืนหรือสไตล์ในการทำงานของเราที่แลกไปกับการเข้าสู่แฟชั่นพวกนั้น
ดังนั้นการมองให้เห็นปัญหาใหญ่ต่างๆในสายโซ่อุปทานแล้วพยายามเติมเต็มให้ได้จึงยังน่าจะเป็นอะไรที่ใช้การได้ดีกว่าพยายามวิ่งตามแฟชั่นในวงการ...ทันทีที่เราเห็นเขาทำกันจนขายดีแล้วนึกอยากจะทำอย่างเขาบ้างก็มักจะเป็นช่วงเวลาที่ตลาดกำลังจะวายแล้ว
4. "ดีที่สุด" กับ "พอใช้" นั้นต่างกันที่ "ทัศนคติ" ของเราเท่านั้นเอง
ผลงานที่ดีมากมักจะได้ผลตอบรับที่อบอุ่นเสมอ แต่คนที่ทำผลงานได้ดีมากนั้นแตกต่างกับคนอื่นยังไง? มันต่างกันที่ใจของเจ้าของงานแค่นั้นเอง
คุณคาดหวังระดับผลงานของตัวเองแค่ไหน? สิ่งนั้นจะเป็นตัวกำหนดความสำเร็จของคุณ
5. จริงใจกับลูกค้า
คำๆนี้ฟังดูง่ายคล้ายตำราสอนค้าขายทั่วไป แต่มันจะยากถ้าคุณไม่ได้คิดอย่างนั้นจริงๆ จุดวัดใจจะผ่านเข้ามาในชีวิตการทำงานของคุณเรื่อยๆแหละ
6. พัฒนาตัวเองทุกวัน
การพัฒนามีสองส่วนคือ ภายใน และ ภายนอก
จะดีมากหากการพัฒนาธุรกิจและองค์กรได้ดำเนินควบคู่ไปกับการพัฒนาจิตวิญญาณ ความเป็นมนุษย์ของตัวเราเอง
การเปิดใจเปิดตาเรียนรู้ศาสตร์ต่างๆที่จำเป็นอยู่ตลอดจะช่วยให้เราไม่ตกยุค
โอกาสใหม่ๆ ไอเดียใหม่ๆ มักจะเกิดขึ้นก็ตอนที่เราได้เรียนเรื่องใหม่ๆนี่เอง
7. แบรนด์ที่มุ่งมั่นจึงมักจะโดดเด่น
ไม่ว่าโมเดลธุรกิจของคุณจะเป็นอะไรก็ตาม คุณควรจะชัดเจนกับผู้บริโภคว่ากำลังทำอะไร? เพื่อใคร? และสิ่งนั้นต้องเป็น "ความจริง"
อย่าลืมแยกให้ออกระหว่าง "คำโฆษณา" กับ "สิ่งที่คุณเป็นจริงๆ"
มีหลายครั้งที่ผู้บริโภคเขาแยกออกแต่กลายเป็นเจ้าของแบรนด์เองที่กลับแยกไม่ออก
เอ...สรุปว่าควรจะขายกาแฟนอกอย่างเขาดีไหมนะ? ผมไม่รู้เหมือนกัน รู้แต่ว่าถ้าคุณเป็นได้ทั้งหมด 7 ข้อนี้แล้ว
คำตอบของคุณจะปรากฏขึ้นมาเองครับ
#MyWay2
#PredaWay