Share

สูตรชง Moka ทั้ง Brikka และ Express พร้อมวิธีการคำนวณอัตราส่วน

Last updated: 3 Oct 2023
14977 Views

สูตรชง Moka ทั้ง Brikka และ Express พร้อมวิธีการคำนวณอัตราส่วน


มาทบทวนต้นกำเนิดของ Moka กันสักนิด...

M O K A อุปกรณ์ชงกาแฟสไตล์อิตาลี ผลิตขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1933 ประดิษฐ์ขึ้นโดย Alfonso Bialetti โมค่าเป็นที่นิยมมากทุกครัวเรือน เพราะใช้งานง่าย และพกพาสะดวก ที่สำคัญคือได้กาแฟรสชาติเข้มใกล้เคียงกับเอสเพรสโซ่เลยทีเดียว
Moka Express เป็นรุ่นคลาสสิกที่มีกันทุกบ้าน และได้ถูกพัฒนาขึ้นจนกลายเป็นรุ่น Brikka ที่มี cap valve พิเศษช่วยเพิ่มแรงดัน ที่ทำให้กาแฟให้มี Crema ฟองละเอียดสีทองคล้ายกาแฟชอต จากเครื่องชงเอสเพรสโซ่

หัวใจของการชง Moka ให้อร่อย
1. ระดับการบด : ใช้ระดับบดค่อนข้างละเอียดแต่หยาบกว่าระดับเอสเปรสโซเล็กน้อย แนะนำให้เป็นระดับที่เมื่อจับผงกาแฟขยี้ด้วยนิ้วมือแล้วรู้สึกประมาณจับน้ำตาลชานอ้อยหรือผงเกลือป่น (เกลือปรุงทิพย์)

2. ปริมาณผงกาแฟที่ใช้ : ควรเติมให้ค่อนข้างเต็ม basket ของ Moka รุ่นนั้นๆ การใส่ให้ได้ปริมาณเกือบเต็ม basket นี้จะช่วยให้ได้แรงดันในการสกัดที่ดี (คล้ายกับสภาวะการสกัดในเครื่องชงเอสเพรสโซ) หากไม่มีเครื่องชั่งวัดน้ำหนักของเมล็ดกาแฟ เราอาจใช้วิธีง่ายๆคือ นำ Basket ของตัว Moka มาตักเมล็ดกาแฟให้เต็มปากพอดี แล้วก็โยนเมล็ดนั้นเข้าเครื่องบดได้เลย...เราจะได้ผงกาแฟพอดีใช้งานเป๊ะ!

3. แรงไฟที่ให้กับเตา : ปกติแล้วจะใช้แรงไฟระดับปานกลาง ( วงไฟพอดีกับฐานล่างของ Moka) เพื่อต้มน้ำ แต่เมื่อน้ำร้อนถึงจุดที่มีแรงดันขึ้นมาพบกับผงกาแฟแล้วควรจะปรับลดแรงไปให้อ่อนลง 50% เพื่อให้ได้การสกัดที่นุ่มนวลไม่รุนแรงเกินไป ไม่เช่นนั้นน้ำกาแฟจะขมไหม้เสียรสชาติ

4. การใส่ปริมาณน้ำที่เหมาะสมกับความเข้มข้นของกาแฟที่ต้องการ : ซึ่งปริมาณน้ำที่ใส่ลงในหม้อต้มด้านล่างนี้สำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อเราต้องการกาแฟที่เข้มข้น...ปริมาณน้ำกาแฟที่สกัดออกมามากหรือน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับผงกาแฟที่ใช้ เราเรียกว่า Brewing Ratio พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ Brewing Ratio เป็นตัวบอกระดับความเข้มข้นของกาแฟในถ้วยนั่นเอง
BR หรือ Brewing ratio = ปริมาณผงกาแฟ / ปริมาณน้ำกาแฟ
1:2 – 1:3 ความเข้มข้นประมาณเอสเปรสโซ
1:6 - 1:10 ความเข้มข้นประมาณอเมริกาโน

ไม่ค่อยมีใครจะพูดถึงเรื่องการคุมปริมาณน้ำที่ใส่ในหม้อต้ม (โดยมากมักจะบอกให้ใส่น้ำถึงระดับใต้ Safety Valve ) ซึ่งที่จริงแล้วหากเราใช้น้ำให้พอดีกับที่ต้องการตั้งแต่แรกเราก็จะสามารถควบคุม Brewing ratio หรือความเข้มข้นของกาแฟที่ชงได้อย่างแม่นยำ

หลังจากทดลองและเก็บข้อมูลมามากพอ เราก็ได้ผลสรุปออกมาเป็นรูปแบบสูตรคำนวณเบื้องต้นดังนี้ค่ะ
การคำนวณปริมาณน้ำสำหรับ Moka
สูตรน้ำที่ใช้กับ Brikka และ Express นั้นมีความแตกต่างกันนิดหน่อยนะคะ
H2O = Water = C + 1.5x(CG) --- Brikka
H2O = Water = C + 2x(CG) + 60 --- Express
โดย
H2O คือ ปริมาณน้ำที่ต้องการรู้ว่าเท่าไหร่
C คือ Coffee หรือ ปริมาณน้ำกาแฟที่ต้องการชงออกมาได้
CG คือ Coffee Ground หรือน้ำหนักผงกาแฟที่จะใช้ (ซึ่งต่างกันไปในเครื่องชงแต่ละรุ่นแต่ละไซส์)
ตัวอย่างคำนวณ

หากเราอยากทานกาแฟที่เข้มประมาณเอสเปรสโซ เราก็เลือกใช้ Brewing ratio = 1:3
1.Brikka ขนาด 4 cups ที่ใส่ผงกาแฟได้ 28 g (เต็มbasket) ซึ่งก็คือตัวแปร CG ในสูตรของเรา
ดังนั้นเราจึงต้องการน้ำกาแฟ = 28x3 = 84 g ซึ่งก็คือ C ในสูตรของเรา
ลองแทนค่าตัวแปรลงในสูตรเพื่อหาปริมาณน้ำที่ต้องใส่ในหม้อต้ม
H2O = Water = C +( 1.5 x CG)
= 84 + (1.5 x 28) = 126 g หรือ 126 ml
จึงสรุปว่า
ใช้ผงกาแฟ 28 g และเติมน้ำ 126 ml สำหรับความเข้มข้น ratio 1:3 >> Brikka 4 cups
-------------------------------


2.Express ขนาด 3 cups ซึ่งใส่ผงกาแฟได้ 20 g ( เต็ม basket ) ดังนั้น CG = 20 g
ดังนั้นเราต้องการน้ำกาแฟ ( สำหรับ brewing ratio 1:3 ) ปริมาณ = 20 x 3 = 60g ซึ่งคือตัวแปร C ในสูตร
ลองแทนค่าตัวแปรลงในสูตรเพื่อหาปริมาณน้ำที่ต้องใส่ในหม้อต้ม
H2O = Water = C + 2(CG) + 60 --- Express
= 60 + (2 x 20) + 60
= 160 ml

จึงสรุปว่า
ใช้ผงกาแฟ 20 g และเติมน้ำ 160 ml สำหรับความเข้มข้น ratio 1:3 >>> Express 3 cups
ที่เราใช้สูตรคำนวณต่างกันก็เพราะว่าเครื่องชงทั้ง 2 แบบออกแบบมาไม่เหมือนกัน โดย Brikka จะชงได้แรงดันน้ำสูงกว่าและปลายท่อน้ำจุ่มลงจนเกือบชิดก้นหม้อจึงดันน้ำออกมาจากหม้อต้มได้ทั้งหมด ในขณะที่ Express จะมีปลายท่อน้ำจุ่มลงไปไม่ถึงก้นหม้อ จึงมีน้ำเหลือตกค้าง ( dead end ) อยู่ในหม้อน้ำจำนวนหนึ่ง (เฉลี่ยประมาณ 60 ml ) จึงต้องนำมาบวกเผื่อในสูตรของ Express ด้วย

อย่างไรก็ตาม ขนาด Basket ของแต่ละยี่ห้ออาจมีปริมาณไม่เท่ากัน เพื่อนๆสามารถนำเมล็ดกาแฟตวงใน basket ให้เต็ม แล้วชั่งน้ำหนักเมล็ดกาแฟที่ได้จากการตวง เสร็จแล้วจึงคำนวณตามสูตรที่ต้องการค่ะ
-------


ถ้าหากสูตรคำนวณปริมาณน้ำทำให้เพื่อนๆรู้สึกเหนื่อยล้า เราขอสรุปเป็นตารางให้นำไปใช้ได้ง่ายขึ้นดังภาพด้านบนค่ะ
มีหลายคนถามว่าควรใช้กาแฟคั่วระดับไหนดี? ขอตอบว่าได้ทุกระดับ ตามแต่รสนิยมความชอบของเราเลยค่ะไม่จำเป็นต้องเป็นระดับเข้มเหมือนที่เคยเข้าใจกัน เพราะหากเราควบคุมการสกัดได้ดีก็จะทำให้รสชาติของกาแฟแต่ละตัวเปล่งประกายของเขาออกมาได้ดีตามไปด้วยค่ะ


Tips : เราลดตะกอนขุ่นในน้ำกาแฟได้ด้วยกระดาษกรองแผ่นกลม วางทับลงบนผิวหน้าผงกาแฟก่อนประกอบหม้อต้มโมค่าชิ้นล่างและบนเข้าด้วยกันค่ะ


สำหรับผู้ที่ไม่ชอบตะกอน วิธีนี้ช่วยลดความรู้สึกฝาดได้มากเลยค่ะ
ขอให้เพื่อนๆมีความสุขกับกาแฟถ้วยโปรดนะคะ


Related Content
Drip for DAD: Brew a Strong Roast to Delight Your Dad
The problem is that the coffee my dad drinks is usually dark or medium roast, which is brewed with an espresso machine or automatic coffee maker. But now, if I, as a drip coffee enthusiast, want to brew his coffee using my preferred method, how can I do it?
สูตรชงเอสเย็น (Thai Style) แก้วโปรดที่คู่ใจคนไทยมาเนิ่นนาน
หวานหอม อร่อย กลมกล่อมกาแฟเข้ม ไม่โดนนมกลบ สูตรปรีดา เอาไปใช้ได้เลย
Baan Preeda Drip Recipe – Part 4 (Final Chapter) Dripping Complete
We've finally arrived at the actual dripping process! Once you have the essential skills—**knowledge and proper understanding**—it’s time to dive in.
icon-messenger
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว and นโยบายคุกกี้
Compare product
0/4
Remove all
Compare
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy