LTLH ทางออกของกาแฟไทย (3) Low humidity drying
LTLH ทางออกของกาแฟไทย (3)
Low humidity drying : เปลี่ยนจากเร่งแห้งด้วยความร้อนเป็นเร่งแห้งด้วยความชื้นต่ำและกระแสลม
การตากแห้งแนวคิดใหม่ LTLH อาศัยปัจจัยหลักๆ 2 ประการในการทำให้กาแฟแห้งลงเรื่อยๆ
1. ความชื้นอากาศที่ต่ำ
อากาศที่มีความชื้นต่ำมากๆ ก็จะมีแรงดันน้ำในอากาศต่ำ ในขณะที่เมล็ดกาแฟที่เพิ่งยกขึ้นตากจะมีแรงดันน้ำภายในเมล็ดสูง ...ความแตกต่างของแรงดันน้ำระหว่างเมล็ดกับอากาศ เราเรียกว่า Water Pressure Gradient
หากแรงดันน้ำในเมล็ดมากกว่าแรงดันน้ำในอากาศ ทิศทางการแพร่ของน้ำจะเป็นไปในทิศจากภายในเมล็ดออกสู่อากาศ
แต่ในทางกลับกัน หากอากาศมีความชื้นมากกว่าเมล็ด น้ำจากอากาศก็จะแพร่เข้าสู่เมล็ด คือทำให้เมล็ดชื้นมากกว่าเดิมได้
ประสบการณ์ชีวิตของเราทำให้เข้าใจเรื่องนี้ได้ไม่ยาก คือในช่วงหน้าหนาวที่อากาศแห้งมากๆ เราจะสูญเสียน้ำออกไปจากผิวกายมากตามเสียจนต้องหาครีมมาทาเพิ่มความชุ่มชื้นและลดอัตราการเสียน้ำไปพร้อมๆกัน
2. กระแสลม
กระแสลมที่พัดผ่านผิวกาแฟ จะเร่งการระเหยของน้ำออกมา ซึ่งความเร็วของลมและลักษณะการไหลผ่าน(ทิศทาง) จะเป็นตัวกำหนดค่าสัมประสิทธิ์การถ่ายเทพลังงาน และสัมประสิทธิ์การแพร่หรือการเคลื่อนตัวของน้ำออกจากเมล็ด
คอมมอนเซ้นส์ ก็คือ ลมพัดจะเร่งการระเหยได้ดีขึ้น
เพียงสามารถทำให้มีความชื้นต่ำและมีกระแสลม เราก็ตากกาแฟในบ้านแบบ LTLH ได้แล้ว
การแพร่ของน้ำออกมาจากกาแฟยังขึ้นกับอุณหภูมิของห้องที่ใช้ทำการตากอีกด้วย ซึ่งห้องที่อุ่น (25-30 C) จะสามารถตากได้มีประสิทธิภาพกว่าห้องที่เย็นจัดครับ
ผมอยากพิสูจน์แนวคิด LTLH ที่ได้รับการจุดประกายไอเดียจากอาจารย์ รศ.ดร.ศิริชัย เทพา แห่ง มจธ. (บางมด) ดังนั้นก็เลยตกลงกับทีมงานร่วมกันสร้างห้องแล็บขึ้นที่บ้านเพื่อพิสูจน์แนวคิดดังกล่าว โดยเริ่มต้นทำกันที่ช่วงเก็บเกี่ยวกาแฟล็อตแรกนี้เสียเลย
เราสร้างห้องที่สามารถควบคุมอุณหภูมิ/ความชื้นโดยการดัดแปลงเครื่องปรับอากาศติดตั้งอยู่แล้วในห้องนอนชั้นล่างของบ้านให้ทำงานร่วมกับ Heater ที่ใช้ทำห้องให้อุ่นในหน้าหนาว และหัวเติมความชื้น Ultra sonic แบบที่มักจะเห็นบ่อยๆในสปาห้องนวด ทั้ง 3 อุปกรณ์นี้จะถูกสั่งการโดยกล่องชุด Controller ที่ทำขึ้นมาโดยเฉพาะ โชคดีที่ 'น้องใหม่' Staff ทีมงานของปรีดาจบวิศวะอิเลคทรอนิคส์ เราก็เลยสามารถทำกล่องคอนโทรลนี้ขึ้นมาใช้งานได้เองภายในเวลา 2 อาทิตย์
ทีนี้...จะมีฝนหลงฤดูตกลงมาตอนไหนเราก็ไม่หวั่นแล้ว ด้วยต้นทุนกำลังความรู้และความคิดที่ลงไป (กับเงินอีกนิดหน่อย) เราจะสามารถทำ procees ได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องเสียผลผลิตไปให้กับความไม่แน่นอนของ Climate Change ที่อาการหนักขึ้นทุกวัน
ตอนนี้ผลการทดสอบเบื้องต้นของระบบคอนโทรลเป็นที่น่าพอใจครับ ห้องที่ปิดสนิท มีแอร์ขนาดเล็กๆ 1 ตัว (12,000 Btu) กับ Heater ราคาพันกว่าบาท และหัวพ่นหมอกตัวเล็กๆ (ไม่ถึง500บ.) ก็สามารถทำอุณหภูมิและความชื้นต่ำๆที่ต้องการได้แล้ว ทีนี้ก็ขึ้นอยู่ที่เราแล้วว่าจะทดสอบตากกาแฟกันที่ระดับความชื้นและอุณหภูมิไหน
และที่สำคัญ...เราไม่ลืมที่จะติดมิเตอร์วัดไฟเพื่อดูการใช้พลังงานซึ่งจะเป็นต้นทุนสำคัญในงานนี้ด้วย
ตอนนี้ผมเริ่มใช้งานห้องนี้มาได้สามวันแล้วครับ เดี๋ยวมาติดตามผลกัน
#LTLH #PredaRoastingHouse #CoffeeDrying #CoffeeProcessing
#ThaiSpecialtyCoffee
www.Preda-Roastinghouse.com