รู้หรือไม่ ? ในศตวรรษที่ 19 บราซิลใช้ทาสกว่า 1.5 ล้านคน เพื่อผลิตกาแฟ !
ย้อนกลับไปราวปี ค.ศ.1920 บราซิลส่งออกกาแฟไปทั่วโลกปีละสามแสนตันต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับปริมาณที่คนไทยดื่มกาแฟ 3 ปี และกลายเป็นประเทศส่งออกกาแฟมากที่สุดในโลก ประมาณกันว่าคนในยุคนั้นกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของโลก ดื่มกาแฟจากบราซิล กระทั่งภายหลังความนิยมการดื่มกาแฟในสหรัฐอเมริกาเริ่มเพิ่มมากขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ช่วงนั้นเองก็มีปัจจัยหลักที่ทำให้ธุรกิจกาแฟเริ่มขยายตัว นั่นคือระบบการค้าทาส
ทำไมการค้าทาสถึงเข้าไปเกี่ยวกับการทำกาแฟ
เพราะกาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจที่ต้องใช้แรงงานคนมากในการเพาะปลูก เรียกว่า Labor Intensive ตั้งแต่การปลูกไปจนถึงการเก็บผล การค้าทาสทำให้บราซิลมีแรงงานมหาศาลในการทำกาแฟ มีการนำเข้าทาสจำนวนมหาศาลในช่วงต้นศตวรรษที่ 19
หนังสือของ Marshall C Eakin (1998) ชื่อ Brazil: The Once and Future Country บอกไว้ว่า มีการนำเข้าทาสกว่า 1.5 ล้านคนเพื่อมาเป็นแรงงานในไร่กาแฟของบราซิล โดยเฉพาะในเซาเปาลูและมีนัสซีไรส์ (Minas Gerais) อิทธิพลของกาแฟในบราซิลมีมากแค่ไหน ดูได้จากขนาดของเมืองที่ใหญ่ขึ้น กาแฟทำให้เมืองเล็กๆ อย่างเซาเปาลูที่มีประชากรแค่ 70,000 คนในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 พอสิ้นศตวรรษ เซาเปาลูกลายเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่กว่ารีอูดีจาเนรูไปแล้ว คือมีประชากรกว่า 2.4 แสนคน และยังเป็นศูนย์กลางทางด้านการซื้อขายกาแฟที่สำคัญของโลกและในปี ค.ศ 1930 เซาเปาลูก็มีประชากรเกินหนึ่งล้านคนเป็นที่เรียบร้อย
น่าแปลกใจว่าหลังจากกรเลิกทาสในปี ค.ศ. 1888 การเลิกทาสไม่ได้ส่งผลให้แรงงานที่มีอยู่มากมายไหลออกจากภาคการผลิต บทบาทของบราซิลต่อการเป็นผู้นำในด้านการปลูกกาแฟนั้นยังคงอยู่ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากในตอนนั้น กาแฟเริ่มเป็นที่นิยมในยุโรปแล้ว และเมื่อเปรียบเทียบการปลูกพืชชนิดอื่น กาแฟก็ยังให้ผลตอบแทนที่ดีกว่ามาก (ไม่มีชาวไร่คนไหนจะล้มต้นกาแฟไปปลูกข้าวโพดแน่ๆ) นั่นทำให้บราซิลยังคงความยิ่งใหญ่ของการเป็นผู้ปลูกกาแฟรายใหญ่ของโลกจนถึงทุกวันนี้
บทความจาก Coffee Bag Packer กาแฟเดินทาง ; ประวัติศาสตร์กาแฟแบบรวบรัด (เขียนโดย เอกศาสตร์ สรรพช่าง)
Credit: THE PRINT COLLECTOR / HERITAGE IMAGES / SCIENCE PHOTO LIBRARY, Wikimedia Commons, the free media repository, https://comexim.com.br/en/
#CoffeeHistory #ประวัติกาแฟน่ารู้